สนามพระ สนามพระเครื่อง 03/02/56

สนามพระ สนามพระเครื่อง 03/02/56




เหรียญพ่อท่านนุ้ย วัดอัมพาราม สุราษฎร์ธานี รุ่นแรก พ.ศ.2479.

เดิน ฝ่าดงป้าย ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. ที่ติดกันด้วยความถี่ทุก 3 เมตร 5 เมตร เข้ามาเปิด สนามพระวิภาวดี ที่ ไทยรัฐ วันนี้ ก็เจอแต่พระสวยๆชื่นใจ องค์แรกคือ พระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์ฐานคู่ กรุวัดใหม่อมตรส ของ นพ.กมลพรรดิ์ เมฆวรวุธ

สภาพพระเข้าตำรา พระแท้ดูง่าย แม้ความสวยจะลบเลือนไปตามธรรมชาติของพระบรรจุกรุที่นํ้าท่วมถึง แต่ไม่ถือเป็นเรื่องเสียหาย เพราะไม่ใช่รอยชอกชํ้าจากใช้ทิ้งๆขว้างๆไม่ทะนุถนอม ลักษณะนี้ซื้อขายสบายใจ บอกแค่ว่า พระแท้สภาพเดิมๆ ก็ตกลงโอเค
พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าแก่ กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี

พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าแก่ กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี

องค์ ที่สอง คือ พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าแก่ กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี พระพิมพ์เนื้อดินผสมว่านเกสรดอกไม้ ที่พบในพระปรางค์ ที่เคยตั้งเป็นสง่าอยู่กลางวัดเมื่อหลายร้อยปีก่อน ซึ่งเป็นวัดร้างมานาน

จน มี ชาวจีน ที่ไม่รู้ใครเข้าฝันหรือไปได้ลายแทงมาจากไหน บุกไปทําไร่อยู่ใกล้วัดร้าง เปิดกรุเข้าไปขนเครื่องทองของมีค่าแล้วหนีกลับเมืองจีน

ต่อมา คุณลุงเปล่ง สุพรรณโรจน์ จ่าเมือง ได้พบพระปรางค์โดยบังเอิญ จึงรายงานถึงเจ้าเมือง พระยาสุนทร สงคราม (อี้ กรรณสูต) จึงเปิดกรุอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2456 ซึ่งก็ยังพบ ใบลานทอง จารึกเรื่องราว (บางส่วน)

รวมทั้งพระพุทธรูปบูชา พระแผง พระพิมพ์เนื้อชินเงิน ชินตะกั่ว มากมายหลายขนาด ทั้ง พระกําแพงศอก พระสุพรรณยอดโถ พระมเหศวร ฯลฯ ซึ่งแสดงว่าเป็นกรุใหญ่ที่มีสมบัติล้ำค่ามากมายจริงๆ เพราะต้องใช้นักโทษขุดค้นพระลำเลียงไปไว้ที่จวนหลายเล่มเกวียน
พระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์ฐานคู่ กรุวัดใหม่อมตรส ของ นพ.กมลพรรดิ์ เมฆวรวุธ

พระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์ฐานคู่ กรุวัดใหม่อมตรส ของ นพ.กมลพรรดิ์ เมฆวรวุธ

ใน บรรดานั้น มี พระพิมพ์ เนื้อดิน หนึ่งเดียวในกรุนี้ ที่เรียกว่า พระเกสรสุพรรณ ตามคําจารึกที่องค์สมเด็จกรมพระในใบลานทองที่เหลืออยู่ ซึ่งโชคดีที่ผู้รับซื้อได้คัดลอกเนื้อความบางส่วนไว้ ทำให้มีหลักฐานว่า พระพิมพ์ในกรุนี้ สร้างขึ้นโดยฤาษี 11 ตน โดยมี พระมหาเถรปิยทัสสีสาริบุตร เป็นประธาน และเป็นเจ้าของลายนิ้วมือแบบ ก้นหอย ที่กดประทับไว้หลังพระ

องค์ พระที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์จะมี คราบนํ้าว่าน จับแน่นอยู่ในผิวเนื้อที่เหี่ยวย่นตามอายุ--เหมือนองค์นี้ของ เสี่ยเช็ง สุพรรณ ที่งามเป็นเลิศ

อุปเท่ห์ การบูชา พระผงสุพรรณ นั้น ครอบจักรวาล เช่น เวลาเมียจะยิง ก็ให้รีบเอาพระใส่ศีรษะแล้วเอาลิ้นแทงอากาศ เสกด้วยนวหรคุณ ก็จะเป็น มหาอุด ปืนยิงไม่ออก (เมียคงตกใจ มือไม้สั่นจนยิงไม่ออก เพราะโดนผัวตายไม่เป็นไร แต่กลัวโดนพระแพงเสียหาย)

องค์ ที่สาม คือ พระนางพญา พิมพ์เข่าตรง กรุวัดนางพญา พิษณุโลก สวยดูง่าย ของ เสี่ยสมชาย ลิ้มไชยาวัฒน์ ซึ่งผิวเนียนสวย สมราคาหลายล้าน

พระนางพญา เป็นพระชั้นสูง สร้างโดยนางพญามหากษัตริย์ คือ พระวิสุทธิกษัตริย์ ซึ่งเป็นพระมารดาของ สมเด็จพระนเรศวรฯ และ พระเอกาทศรถ สันนิษฐานว่า พระวิสุทธิกษัตริย์ ทรงสร้างวัดนางพญา ถวายพระราชกุศลแด่ สมเด็จพระศรีสุริโยทัย พระมารดา พระจึงมีอายุการสร้างกว่าสี่ร้อยปี
พระนางพญา พิมพ์เข่าตรง กรุวัดนางพญา พิษณุโลก ของ สมชาย ลิ้มไชยาวัฒน์

พระนางพญา พิมพ์เข่าตรง กรุวัดนางพญา พิษณุโลก ของ สมชาย ลิ้มไชยาวัฒน์

ตอน รัชกาลที่ 5 ประพาสพิษณุโลก และมีผู้ถวายพระนางพญาให้จำนวนมาก ก็ได้นำกลับมาพระราชทานไปตามวัดต่างๆ จึงพบ พระนางพญา หลายกรุ เช่น ที่วัดอินทรวิหาร ซึ่งพระกรุนี้จะมีสนิมเหล็กที่ผิวเพราะบรรจุไว้ในบาตรพระ และพบที่ใต้ฐานพระประธานในโบสถ์วัดสังข์กระจาย แต่กรุที่สวยหรูเพราะ ลงรักปิดทอง คือ นางพญา กรุวังหน้า (โรงละครแห่งชาติ)

รายการต่อไป เข้มขลังสไตล์เขมร คือ พระกริ่งเขมร บัวฟองมัน องค์นี้ดูดีทั้งเนื้อโลหะ คราบไคล และศิลปะที่ถึงยุคสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

จัดเป็น พระกริ่งนอก นําเข้าจากเขมร ปลายกรุงศรีอยุธยา เชื่อถือว่ามีประสบการณ์คุ้มครองป้องกันแคล้วคลาด และคงกระพันชาตรี ราคาองค์สวยขลังสุดๆอย่างนี้อยู่ที่ หลักแสนปลาย ใกล้ๆล้าน ทราบแล้วเปลี่ยน

อีก องค์ เป็น พระพุทธรูปบูชาศิลปะปาละ เนื้อทองคํา กําเนิดในอินเดีย อายุราว ค.ศ. 9 องค์นี้ พี่ใหญ่ อาจารย์ต้อย เมืองนนท์ บอกมาว่าหายาก (มาก) ขุดพบที่ อ.อู่ทอง สุพรรณบุรี

ราคา อาจารย์ต้อย ไม่บอกมา บอกแต่ว่าสูงค่า ซึ่งก็ไม่ต้องแปล ต้องแพงหูดับแน่ๆ เพราะงดงามและถึงยุคสมัยขนาดนี้
พระกริ่งเขมร บัวฟองมัน

พระกริ่งเขมร บัวฟองมัน

ต่อ ด้วย เหรียญพ่อท่านนุ้ย วัดอัมพาราม สุราษฎร์ธานี พระเกจิอาจารย์แห่งลุ่มนํ้าตาปีที่เลื่องลือด้วยวิชา ชุบตนเกิดใหม่ สมัยท่านมีชีวิต จึงมีสาธุชนเดินทางไปให้ท่านทําพิธีแน่นวัด

เหรียญ รุ่นนี้ จัดสร้างเป็น รุ่นแรก แจกในงานบุญวันเกิด 78 ปี เมื่อ พ.ศ.2479 ด้านหน้าเหรียญเป็นรูปท่าน หลังเป็นรูปเสือ สัญลักษณ์ “ปีขาล” ปีเกิดของท่าน

เหรียญนี้คนเมืองร้อยเกาะ เงาะอร่อย ไข่แดง แหล่งธรรมะ จัดเป็น 1 ใน 4 เหรียญเกจิสุดยอดของจังหวัด เรียกกันว่า จตุรธรรม ประกอบด้วย เหรียญพ่อท่านเพชร วัดอัมพวัน (เกาะพะงัน) เหรียญพ่อท่านเพชร วัดวชิรประดิษฐ์ (อ.กาญจนดิษฐ์) เหรียญหลวงพ่อกล่อม วัดโพธาวาส และ เหรียญพ่อท่านนุ้ย แบบนี้ของ ตลาดดาว--ฟังแปลกๆแต่คนส่งภาพมา เขียนมาหยั่งงี้จริงๆนะจ๊ะ

ปิดท้าย ด้วยพระเครื่องของสุดยอดพระเกจิ ระดับ พระอริยสงฆ์ เมืองสุพรรณ คือ พระพิมพ์ซุ้มกอ หลวงพ่อโหน่ง วัดดอนมะดัน อ.สองพี่น้อง สุพรรณบุรี

ท่าน เป็นพระบริสุทธิ์ บวชตั้งแต่เป็นเณร  เรียนอักขระอยู่กับ พระอาจารย์แสง และหลวงพ่อเหนี่ยง วัดสองพี่น้อง ถือวัตรปฏิบัติเคร่ง จําวัดในป่าช้า ฉันแต่ผักผลไม้ถั่วงา ตลอดอายุ

ท่านเป็นศิษย์สืบทอดพุทธาคมของ หลวงพ่อเนียม วัดน้อย ที่กล่าวยกย่องท่านกับ หลวงพ่อปาน ซึ่งเป็นศิษย์ผู้น้อง ว่าถ้าข้าไม่อยู่ มีอะไรติดขัดให้ไปหา ท่านโหน่ง เขาแทนข้าได้
พระพุทธรูปบูชาศิลปะปาละ เนื้อทองคํา ของอาจารย์ต้อย เมืองนนท์

พระพุทธรูปบูชาศิลปะปาละ เนื้อทองคํา ของอาจารย์ต้อย เมืองนนท์

ในยุคท่าน ได้สร้าง พระเครื่องเนื้อดินเผา ไว้มหาศาล กองเต็มลานวัด ใครอยากได้ก็ขนไปได้ตามใจชอบ ขนาดเอาไปทอยนํ้าให้หลวงพ่อเห็น ท่านก็ไม่ห้าม แต่พูดเปรยว่าไอ้พวกนี้เป็น ลิงได้เพชร และบอกว่า จะหาไม่ได้

วันนี้ วาจาท่านก็ศักดิ์สิทธิ์จริง เพราะปัจจุบัน พระเครื่องที่ท่านสร้างไว้ กลายเป็นของหายากมีราคาสูง อย่างองค์นี้ของ เสี่ยวุธ ราชบุรี ซื้อมาในราคาเกินกว่า 5 แสน เพราะความสวยที่เชื่อว่าเป็นที่สุด และรอยจารอักขระด้านหลังที่เชื่อว่าเป็นลายมือหลวงพ่อ

เข้า สนามพระใหม่ วันนี้ ก็ตื่นเต้นกับข่าวการจัดสร้างพระครั้งสำคัญ นั่นคือ พระคลังมหาสมบัติ ซึ่งน้อยคนจะได้เห็นและรู้จักว่าคืออะไร

ต้องย้อน ดูประวัติ กรมธนารักษ์ ตั้งแต่ รัชกาลที่ 5 ซึ่งโปรดให้ตั้ง กรมเก็บ ขึ้น --ชื่อไม่ต้องแปล เพราะมีหน้าที่จัดเก็บทรัพย์สินแผ่นดิน ต่อมาในสมัย รัชกาลที่ 6 เปลี่ยนชื่อเป็น กรมพระคลังมหาสมบัติ และหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ก็ถูกรวมกับกรมเงินตรา กรมรักษาที่หลวงและกัลปนา และกรมกระษาปณ์สิทธิการ เรียกว่า กรมพระคลัง และเปลี่ยนชื่ออีกเป็น กรมคลัง สุดท้าย เปลี่ยนเป็น กรมธนารักษ์ เมื่อปี 2495
เหรียญจับโป๊ยหล่อฮั่น วัดบวรนิเวศวิหาร รุ่นครบ 121 ปี

เหรียญจับโป๊ยหล่อฮั่น วัดบวรนิเวศวิหาร รุ่นครบ 121 ปี

ใน สมัย ร.5 สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงศ์ พระราชโอรส ซึ่งกำกับดูแล กรมเก็บ ได้ขอพระราชทานสร้าง เทวรูปพระคลัง เพื่อให้คุ้มครองรักษาพระราชทรัพย์ของแผ่นดิน และเป็นที่ยึดเหนี่ยวข้าราชการให้มีขวัญกำลังใจยึดมั่นในความซื่อสัตย์ สุจริต โดยทำ รูปปั้นเทวรูปพระคลัง ขึ้น

ในโอกาสที่ กรมธนารักษ์ จะครบ 80 ปีที่เก็บรักษาทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน จึงได้จัดสร้าง เหรียญพระคลัง ที่จำลองจาก พระคลังมหาสมบัติ ขึ้นเป็น ครั้งแรก เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ผู้บูชา ให้มั่งคั่งร่ำรวยไปด้วยทรัพย์สินเหมือนที่   เทวรูปพระคลัง  ได้รักษาทรัพย์สินของแผ่นดินมาจนทุกวันนี้

รูปปั้น ของ เทวรูปพระคลัง เป็นเทวดาประทับยืน ทรงเครื่องกษัตริยาธิราช สวมมงกุฎยอดชัย พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงดอกบัว ความสูง 29 ซม.

ที่มหาเศรษฐีแย่งกันจอง คือเนื้อทองคำ ราคาองค์ละ 9,999,999 บาท ส่วนเนื้อเงิน 150,000 บาท และ เนื้อโลหะผสม ปิดทองคำ เปลว 15,000 บาท--
หลวงปู่แผ้ว รุ่น สธ.ใบขี้เหล็กหลวง และ พระยอดธงมหาราช รุ่นแรก

หลวงปู่แผ้ว รุ่น สธ.ใบขี้เหล็กหลวง และ พระยอดธงมหาราช รุ่นแรก

อีกรายการ ที่เจตนาจัดสร้างก็ดีงามเหมาะสมมาก คือ วัตถุมงคล หลวงปู่แผ้ว ปวโร วัดประชาราษฎร์บำรุง กำแพงแสน นครปฐม ซึ่งได้รับพระราชทาน พระนามาภิไธย สธ. จาก สมเด็จพระเทพ-รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประดิษฐานหลังเหรียญ ที่จัดสร้าง 1 แสนเหรียญเท่านั้น เพื่อนำรายได้ไปสร้าง รพ. 84 พรรษามหาราช

วัตถุมงคล หลวงปู่แผ้ว รุ่น สธ.ใบขี้เหล็กหลวง นี้ จัดพิธีเททองไปแล้วเมื่อ 2 ม.ค. โดยมีศิษยานุศิษย์เต็มวัด เพราะ หลวงปู่แผ้ว เป็นประธานเททองเอง

จัดสร้างชุดทองคำกรรมการอุปถัมภ์ และแบบเนื้อเงินลงยา นวะ และทองฝาบาตร

ในรุ่นนี้ มีการจัดสร้าง พระยอดธงมหาราช ขึ้นด้วย และเป็น รุ่นแรก ของหลวงปู่ มีเนื้อทองคำ เงิน นวะ และทองแดง
เทวรูปพระคลัง ในพระคลังมหาสมบัติ กรมธนารักษ์ จัดสร้างครั้งแรก

เทวรูปพระคลัง ในพระคลังมหาสมบัติ กรมธนารักษ์ จัดสร้างครั้งแรก

วันนี้ พระใหม่แต่ละสำนักสุดยอดทั้งนั้น เพราะอีกรุ่นคือ เหรียญจับโป๊ยหล่อฮั่น วัดบวรฯ หรือ เหรียญ 18 อรหันต์ วัดบวรนิเวศฯ เป็นประเภท เหรียญที่ระลึก ด้านหน้าจำลองรูป พระอรหันต์ 18 องค์ ด้านหลังเป็นรูปองค์พระพุทธเจ้าในลัทธิมหายาน ซึ่งแสดงฤทธิ์ช่วยชาวโลก

เหรียญ นี้ สร้างฉลองในวาระครบรอบที่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระสังฆราช เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2532 และครบรอบ 121ปีแห่งการสร้าง เหรียญจับโป๊ยหล่อฮั่น

ตาม คติความเชื่อแบบจีนท่วงท่าของพระอรหันต์ ที่ทำท่าต่อสู้อยู่กับมังกร กับอากัปกิริยา, การถือสิ่งของ (อาวุธ) มงคล หมายถึงเพิ่มยศ เพิ่มลาภ เพิ่มวาสนา แก้อาถรรพณ์แก้ชง เพิ่มฮะ

ตามหลักฐาน มีการจัดสร้างขึ้นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2434 ออกเนื่องในพระราชพิธีทรงผนวช สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ หลังจากนั้น แม้ว่าจะมีผู้เรียกร้องให้สร้างมาตลอด แต่ทางวัดไม่เคยสร้างเลยจนกระทั่งครบ 121 ปี ถึงมีการจัดสร้างครั้งนี้ นักสะสมจึงไม่ควรพลาด เพราะถ้าจะรอไปอีก 121 ปี ก็กลัวจะขี้เกียจหายใจกันแล้ว

ลา กันด้วยเรื่องของการ บน ซึ่งกลายเป็นนิสัยประจำชาติของคนไทย ซึ่งนิยม บนบานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาตั้งแต่โบราณ โดยความเชื่อว่าจะได้รับการช่วยเหลือให้สมหวังแล้ว

ประสาคนไทยมี น้ำใจ เมื่อได้รับการช่วยเหลือแล้ว ก็ต้องมีการตอบแทน จึงต้อง บน ว่าหากสำเร็จ ก็จะกระทำในสิ่งที่ (คิดเอง) ว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ชอบ
พระพิมพ์ซุ้มกอ หลวงพ่อโหน่ง วัดดอนมะดัน สุพรรณบุรี ของ วุธ ราชบุรี

พระพิมพ์ซุ้มกอ หลวงพ่อโหน่ง วัดดอนมะดัน สุพรรณบุรี ของ วุธ ราชบุรี

ก็เลยมีการ แก้ บน กันหลายลักษณะ เช่น ถวายไข่ไก่ ถวายพวงมาลัย  จนถึงขึ้นแก้ผ้ารำ ฯลฯ

ส่วน จอมบนวันนี้ คือ เสี่ยธง ซึ่ง 5 ปีก่อนตัดสินใจไปอินเดีย เพราะมีคนบอกว่าอีกหน่อยอาหารแขกจะเป็นที่นิยมในเมืองไทย เสี่ยธง เลยไปเรียนวิชาทำอาหาร กอร์ดอง แขก

กลับมาปีก่อน เสี่ยธง ซึ่งได้เซอร์ติฟิเกตเป็น เชฟ  ได้วิชาทำโรตี แกงกะหรี่ ก็มาหางานทำ แต่หาไม่ได้ เพราะอาหารแขกยังไม่ฮิต จะเปิดร้านเองก็ยังไม่มีทุน

เชฟธง ก็เลยไปสมัครงานร้านอาหารไทย โดยบอกแต่ว่าเป็นเชฟ เจ้าของร้านก็ตกลงโอเคจ้าง

วัน แรก พอมาถึงครัว ดูออเดอร์อาหารแล้ว ก่อนลงมือทำ เชฟธง ก็พนมมืออยู่หน้าเตา ทำให้เจ้าของร้านชอบใจ แสดงว่าเป็นคนไทยแท้ๆ ขนาดจะทำอาหารยังต้องเสกต้องไหว้ แหมดีดี มีมงคลกับคนกิน

แต่ เชฟธง ไหว้ไม่เลิกวุ้ย จนลูกค้าเริ่มทุบโต๊ะหิว เจ้าของร้านก็เลยไปสะกิด เฮ้ยๆ จะเสกอะไรกันนักหนา ทำได้แล้ว ลูกค้ารอเต็มร้าน

เชฟธง หันมายิ้มจ๋อยๆ ไม่ได้เสกเฮีย แต่กำลังบนหลวงพ่อให้ช่วย เพราะจำสูตรแกงมัสมั่นไทยไม่ได้เลย เจ้าค่ะ อามิตตพุทธ.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

สนามพระ สนามพระเครื่อง วันที่ 16/02/57

สนามพระ สนามพระเครื่อง วันที่ 14/07/56